กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี

กว่าสองร้อยปีสมัยพระยาตากสินยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชขุนประจันศึกประชิดซึ่งเป็นทหารคู่ใจของเจ้าเมืองนครฯ รักษาหัวเมืองทางด้านทิศเหนือเห็นว่าพระยานครสู้ทัพพระยาตากสินไม่ได้ จึงสั่งให้ทหารลงเรือเพื่อจะหนีพระยาตากสิน ขุนประจันศึกประชิดพร้อมทหารคู่ใจและครอบครัวหลบหนีมาทางแม่น้ำหลวง ผ่านบ้านดอนเพื่อจะไปเมืองไชยา แต่ปรากฏว่าเมืองไชยาก็โดนพระยาตากสินยกทัพมาตีแตก ขุนประจันศึกประชิดจึงถอยร่นลงมาในลำคลองเล็กๆ ซึ่งเหมาะกับการตั้งบ้านเรือน โดยสร้างบ้านหลังใหญ่ประมาณห้าหลัง และตั้งชื่อว่าหมู่บ้านใหญ่และกลายเป็นตำบลบางใบไม้ในปัจจุบัน

ความประทับใจครั้งแรกที่ก้าวเข้าสู่บ้านนาหมื่นศรี กับการต้อนรับอันแสนอบอุ่น โดยนักแสดงตัวน้อยที่คอยต้อนรับคณะ

น้ำมะพร้าวผสมดอกอัญชัญ พร้อมดอกกุหลาบที่ทำจากใบเตย ที่เห็นมีแค่ก้นแก้วนี่คือให้ชิมน่ะ ถ้าอร่อยตักเพิ่มค่ะ…เป็นการต้อนรับที่น่าประทับใจจริงๆ

จากนั้นมีการแสดงวิธีการทำขนมท้องถิ่น คล้ายๆขนมครกภาคกลางของเรานี่แหละค่ะ แต่ที่นี่ทอดในกระทะ

มีการแสดง วิธีการสาวไหม แต่ที่ไหนได้ที่เห็นไม่ใช่สาวในหมู่บ้านน่ะค่ะ เป็นสาวสวยจากคณะเรานี่แหละค่ะ…อิอิ

นอกจากสอนวิธีสาวไหมและ ยังมีการสอนพับผ้าเป็นรูปต่างๆ และผ้าที่ได้ ก็คือผ้าที่ทอจากที่หมู่บ้านนี่แหละค่ะ

ฮั่นแน่ะ!!….ท่าน ผอ.คนสวย คุณศิรวี วาเล๊าะ
ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ก็แอบมาทำขนมกับเค้าด้วยน่ะ

การทอผ้าหมื่นศรีมีมากว่า 200 ปีแล้ว คนนาหมื่นศรีผูกพันกับผ้าทอ จนเป็นวิถีที่สืบทอดในผืนผ้า คือ 3 ช่วงแห่งชีวิต คือผาตั้ง(ช่วงแต่งงาน) ผ้าพาด(ช่วงบวช) ผ้าพานช้าง(เตรียมพาดโลงศพตัวเองและสามี) และเริ่มน้อยลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขาดวัตถุดิบ และหลังสงครามก็มีผ้าจากจากโรงงานอุตสาหกรรมออกขาย การทอผ้าพื้นบ้านจึงลดน้อยถอยลง จนเกือบหมดไป แต่ในปี 2514 มีกลุ่มผู้อาวุโสกลุ่มหนึ่งที่ฟื้นฟูมาอีกครั้งคือ ยายนาง ช่วยรอด, ยายผอม ขุนทอง, ยายอิน เชยชื่นจิตร, ยายเฉิม ชูบัว ช่วยกันซ่อมกี่และเครื่องมือทอผ้า โดยตั้งใจให้ลูกหลานได้รู้จักและสืบทอดทอผ้าแบบดั้งเดิม

ต่อมาป้ากุศล นิลละออ บุตรสาวของยายนาง ได้รับช่วงต่อมา และตั้งเป็นกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี และได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานราชการเรื่อยมา ทำให้สมาชิกหันมาทอผ้าด้วยกี่กระตุกกันมากขึ้น

ปัจจุบันนางสาวอารอบ เรืองสังข์ หรือ ป้าฉุย ได้เป็นประธานของที่นี่ ถือเป็นรุ่นที่ 5 นับจากทวดของทวด (ป้าฉุย เสื้อลายด้านขวา) ป้าฉุยได้ซึมซับและได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และดูแลจัดการกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีมาถึงปัจจุบัน

ผ้านาหมื่นศรีมีลักษณะพิเศษคือผ้าห่มยกดอก ทั้งที่เป็นโครงสร้างของผืนผ้าและลวดลายมีบางประการที่ต่างจากผ้าทอท้องถิ่นอื่นๆ โครงสร้างของผืนผ้าห่ม เรียงเส้นด้ายยืนเป็นส่วนประกอบต่างๆ คือ ริมตีน เป็นริมนอกสุดของผ้า แม่แคร่ เป็นสีพื้นที่ถัดเข้ามา ลูกเกียบ เป็นริ้วเล็กๆ ตามแนวยืน เป็นคู่หรือเดี่ยวก็ได้ พอถึงตอนทอจะมีส่วนต่างๆ ตามขวางผ้า โดยเว้นชายรุ่งริ่ง (ชายครุย) ไว้ก่อน ต่อไปคือชายบัด ทอคั่นเป็นแถบสี ชายผ้า ทอสีพื้นยาวประมาณคืบ หน้าผ้า ทอลายยกดอก พอเป็นแถบไม่ต้อบครบดอก หน้าผ้านี้จะอยู่ระหว่างลูกเกียบ จากนั้นจึงจะถึงลายยกดอกเมื่อได้ความยาวที่ต้องการแล้วอีกด้านหนุ่งจะทอถอยกลับแบบเดิบไปจนถึงชายครุย

นอกจากโครงสร้างผืนผ้าแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือสีสัน ซึ่งนิยมพื้นแดงดอกเหลืองมากที่สุด สีอื่นๆก็พบบ้าง แต่น้อย

บริเวณด้านหน้าเรือนรับรองจะเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ทอผ้า ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

มีตัวอย่างการแต่งกาย ของชาวบ้านท้องถิ่น ด้านซ้ายเป็นชุดใส่ปกติ ส่วนด้านขวาเป็นชุดแต่งงานที่ฝ่ายหญิงทอให้ เพราะเมื่อก่อนเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยรุ่นแม่จะถ่ายทอดการทอผ้า หญิงสาวสมัยก่อนจึงทอผ้าเป็นทั้งแต่เริ่มสาว เมื่อชายหนุ่มมาสู่ขอเธอจึงทักทอผ้าแห่งชีวิตชุดแรก เตรียมไว้เป็นผ้าตั้ง และตรงกลางเป็นผ้าพาด ที่ผู้หญิงทอเตรียมไว้ให้ลูกตอนบวช

เดินไปรอบๆ จะมีผ้าโบราณเป็นร้อยผืน พร้อมคำบรรยาย ชื่อต่างๆของลายผ้า และแหล่งที่มา

มีชีวประวัติครูผ้านาหมื่นศรี และรายชื่อบุคคลสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับผ้านาหมื่นศรี

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มีผ้ามรดกที่พี่น้องบริจาคกันมากว่า 100 ผืน

มีประวัติแต่ละช่วงเวลาให้อ่านกัน ออกมาด้านนอกก็จะเห็นพี่ๆป้าๆ เขาทอผ้ากัน พูดคุยถามได้ครับอัธยาศัยดีกันทุกคน

แม้ว่าผ้าตั้ง หรือผ้าพาด ในอดีตไม่นิยมในปัจจุบันแล้ว แต่กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีได้ประยุกต์มาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมีผ้าที่ใช้ในงานสำคัญเช่นผ้าเช็ดหน้าเพื่อนเจ้าบ่าว เจ้าสาว, ผ้าที่ใช้กราบพ่อแม่ในงานแต่งงาน และผ้าพานช้างที่พาดศพก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน

สินค้ามากมายให้เลือก ราคาจะสูงกว่าเสื้อผ้าทั่วไป เพราะเป็นผ้าทอด้วยมือ และวัตถุดิบดีกว่า อีกทั้งเป็นผ้าโบราณที่มีเรื่องราว ขายทั้งผ้าชิ้นไปตัดเย็บเอง หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป

ผ้านาหมื่นศรีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สืบต่อกันมายาวนาน แม้บางสิ่งบางอย่างจะหายไป แต่สิ่งที่ยังอยู่เราควรอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าจะด้วยซื้อ หรือมาเยี่ยมชม เรียนรู้เรื่องราวของที่นี่ ให้ดำรงคงอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน

พิกัด: 119 หมู่ 8 บ้านควนสวรรค์ ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง (คลิ๊กเพื่อดูแผนที่บน googlemap)

เปิด: ทุกวัน เช้า-เย็น

ที่จอดรถ: จอดตามแนวถนน

โทร: 075 583 524

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ facebook.com/reviewtrang

ยังค่ะ…ยังไม่จบแค่นี้สำหรับเมืองตรัง คราวหน้าป้าจะพาไปเที่ยวถ้ำเขาช้างหาย และบ่อหินฟาร์มสเตย์กันอีก  โปรดติดตามชมน่ะค่ะ 

ขอขอบคุณ : ข้อมูลดีๆจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

#สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต #เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน #สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย

ป.ล. ข้ออภัยภาพในนี้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะลุงไม่ได้มาด้วย…อิอิ

#ลุงป้าพาเที่ยว

WhatsApp chat