งานประเพณีแห่นาคโหด จังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2561

งานประเพณีแห่นาคโหด จังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2561

งานบุญที่ยิ่งใหญ่ “แห่นาคโหด” จังหวัดชัยภูมิ ในวันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2561 ณ วัดตาแขก ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

“Cool I San” พิธีแห่นาคที่นี่…แปลก…ประหลาด…และโหดที่สุดในโลก!! บททดสอบความอดทนอดกลั้นของลูกผู้ชาย เพื่อทดแทนพระคุณของ “แม่” ที่ต้องอดทนอดกลั้นกับความเจ็บปวดเมื่อตอนคลอดลูกออกมา และต้องอดทนกับความทรมานในการ “อยู่ไฟ” บนแคร่ไม้ไผ่ ฉะนั้นนาคที่นี่จะสามารถบวชได้ ต้องอดทนกับความเจ็บปวดและครองตัวให้มั่นบนแคร่ไม้ไผ่ที่ถูกเซิ้ง ถูกโยน และถูกหามแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน

สำหรับประเพณีแห่นาคโหดที่บ้านโนนเสลานี้ ถือเป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี โดยชาวบ้านจะร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มหรือบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ 20 ปี เพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ด้วยความตั้งใจ ที่จะบวชเอง ซึ่งจะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนสี่ โดยผู้เป็นบิดาจะพาบุตรชายไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสใน 2 วัดของหมู่บ้านโนนเสลา คือวัดบุญถนอมพัฒนาราม (วัดนอก) และวัดตาแขก (วัดใน) เพื่อถือขัน 5 ประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ไปฝากตัวเป็นนาคปฏิบัติธรรม ถือศีล 8 อยู่ที่วัด เรียนรู้บทสวดที่จะบวช และเรียนรู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น ก่อนถึงกำหนดวันบวชของประเพณี งานบุญเดือนหก เริ่มต้นด้วยพิธีการตัดและโกนผมนาคกันก่อนตามพิธีบวชปกติ แต่ก่อนจะเข้าพิธีสู่ขวัญ นาคทุกคนจะต้องพากันออกจากวัดไปกราบศาลปู่ตาซึ่งเป็นศาลประจำหมูบ้านกันก่อน เมื่อเสร็จแล้วนาคทุกคนค่อยกลับวัดเพื่อทำพิธีสู่ขวัญนาคต่อไป

จากนี้ไปเป็นความเชื่อที่นับถือกันต่อมา ด้วยการแห่นาค จากบ้านตนเองรอบหมู่บ้าน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้านมาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่าโยนนาค ถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่า ผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ โดยผู้บวชจะต้องมีสมาธิและสติในการประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ หากใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช โดยจะเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางที่แห่รอบหมู่บ้านกว่า 3 กิโลเมตร ซึ่งตั้งแต่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาใน พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดตกลงมาถูกดินเลยสักราย

ความศรัทธามหามงคลยังดำเนินต่อไปตามความเชื่อและความรู้สึกในเส้นทางศาสนา แม้จะแห่ด้วยความโหด ความสนุก แต่ด้วยความมุ่งมั่นตลอด 3-4 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง และด้วยรอบโบสถ์วัดอีก 3 รอบ ความศรัทธายังไม่เสื่อมคลาย….สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นความ Cool I – San ที่ลงตัวและหล่อหลอมด้วยความเป็นเสน่ห์ที่ยั่งยืน ควรค่าแก่การเรียนรู้และสืบทอดต่อไป

สอบถามข้อมูลได้ที่อำเภอภูเขียว โทรศัพท์ 0 4486 1000 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตูม โทรศัพท์ 0 4410 0171-3, 09 4542 2477 เว็บไซต์ www.nong-toom.go.th

ตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว “ประเพณีแห่นาคโหด” จังหวัดชัยภูมิ
วันที่ 1-3 พฤษภาคม 2561 ตามเส้นทางกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา-ชัยภูมิ

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2561
07.30 น.          – ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา (ใช้ถนนพหลโยธิน ถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวา ผ่านอำเภอปากช่อง ถึงอำเภอสีคิ้ว เลี้ยวซ้ายเข้า ทล.201 ถึงอำเภอด่านขุนทด เลี้ยวซ้ายริมรั้วโรงพยาบาลด่านขุนทด ไป วัดบ้านไร่)
10.30 น.          – เข้าชมวัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด เคยเป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เกจิอาจารย์ชื่อดัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เคยเสด็จมาสนทนาธรรมกับหลวงพ่อคูณด้วย ภายในบริเวณวัด มี “พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ” เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ชีวประวัติและเป็นที่เก็บเครื่องใช้ของหลวงพ่อคูณ ถือเป็นอนุสรณสถานแห่งศรัทธา และบารมีทานอันยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมี “วิหารเทพวิทยาคม หรือวิหารปริสุทธปัญญา” เป็นอุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ ก่อสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ ที่ต้องการจะให้เป็นมหาวิหารแห่งพระไตรปิฎก หรืออีกนัยหนึ่งคือดินแดนที่รวบรวมพุทธประวัติ พระวินัย และพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดเพื่อจรรโลงพระศาสนาให้เป็นไปตามปัจฉิมวาจาของพระพุทธองค์ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน มหาวิหารแห่งนี้จึงเป็นสถานที่แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่นำเอาพระไตรปิฎกมาแสดงและให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป
– ออกเดินทางไป อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ
12.15 น.          – รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านดอนละนาม ข้าวแกงไฮโซ อำเภอจัตุรัส ต้องไม่พลาดกับเมนูอาหารถิ่น “หม่ำขี้ปลา” และอาหารขึ้นชื่อของที่ร้าน เช่น ปลาตะเพียนไร้ก้าง ทอดมันปลากราย และแกงเห็ดสมุนไพรสามอย่าง เป็นต้น
– ออกเดินทางไป อำเภอแก้งคร้อ ชัยภูมิ
14.00 น.          – เข้ากระบวนการกว่าจะมาเป็นกาแฟหอมละมุน ไร่กาแฟ B&P Chaiyaphum อำเภอแก้งคร้อ บ้านและป่า คือความหมายและที่มา กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวแก้งคร้อ เป็นพื้นที่สูงและอากาศเย็นจึงเพาะปลูกได้ผลผลิตดีที่มีคุณภาพ เมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาจากโครงการหลวงทางภาคเหนือ มาเพาะปลูกแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่นในไร่ เช่น ประดู่ สัก และปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไปด้วย กาแฟ B&P จึงเป็นไร่กาแฟแห่งแรกและแห่งเดียวเท่านั้นที่รายล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์อันทรงคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้มาศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โทรศัพท์ 08 6255 0062, 08 1876 3366 (การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับไป เขื่อนลำปะทาว)
– ออกเดินทางไปอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ สามารถเดินทางจาก ไร่กาแฟ (ไม่ต้องย้อนเข้าตัวเมืองชัยภูมิ) มุ่งหน้าไปทางเดียวกับ วัดป่าสุคะโต ลงในพื้นที่อำเภอแก้งคร้อ ถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปอำเภอภูเขียว
16.00 น.          – เข้าชมวัดพระธาตุหนองสามหมื่น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว พระธาตุหนองสามหมื่นมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่สมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 อีกทั้งสามารถเข้าปฏิบัติธรรม ณ ศาลาพันห้อง
17.30 น.          – เดินทางเข้าที่พัก ในอำเภอภูเขียว (โรงแรมปาโต้ โทรศัพท์ 08 7962 7979 โรงแรมบันเดอร์ โทรศัพท์ 0 4486 2332, 08 1068 3563 ภูสวย นํ้าใส รีสอร์ท โทรศัพท์ 0 4484 4212, 0 4484 4316, 08 1494 1716 เฮือนไม้ โทรศัพท์ 0 4484 4648
– รับประทานอาหารเย็น ใน อ.ภูเขียว(ลาบเป็ดบัวพักเกวียน โทร. 08 6247 3811 แสงจันทร์ลาบเป็ดโทร. 08 6867 3261 / พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2561
05.30 น.          – ออกเดินทางไป บ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม(ระยะทางห่างจากตัวอำเภอภูเขียว ประมาณ 8 กิโลเมตร ห่างจาก อำเภอชุมแพประมาณ 20 กิโลเมตร)
05.45 น.          – รับประทานอาหารเช้าตามเส้นทาง
06.10 น.          – เข้าเยี่ยม “นาค” ที่กำลังจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ชมพิธีการตัดและโกนผมนาค ปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 11 นาค ตามพิธีบวชปกติ แต่ก่อนจะเข้าพิธีสู่ขวัญ นาคจะต้องพากันออกจากวัดไปกราบศาลปู่ตาซึ่งเป็นศาลประจำหมูบ้าน
08.00 น.          – ร่วมกิจกรรม ณ วัดบุญถนอมพัฒนาราม ดังนี้
– รับฟังการประวัติความเป็นมาจากปราชญ์ชาวบ้านและผู้รู้ในชุมชนบ้านโนนเสลา เกี่ยวกับงานแห่นาคโหด เรื่องราวของเครื่องแต่งกายของนาค
– ชมกระบวนการทำผ้าขิดผ้าโนนเสลา ในชุนชมบ้านโนนเสลา ชมกรรมวิธีและร่วมการทำหมอนขิด พร้อมกับค้นหาคำตอบว่าทำไมจะต้องมีหมอนขิดให้นาคมากขนาดนั้น
11.00 น.          – ถวายเพลพระสงฆ์
11.30 น.          – รับประทานอาหารกลางวันจากชุมชนบ้านโนนเสลา
12.30 น.          – เดินทางเข้าสู่สถานที่การจัดงาน ณ วัดตาแขก
13.00 น.          – ร่วมถวายหมอนขิดแด่พระสงฆ์และนาค จากนั้นเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญนาค
14.00 น.          – นาคทั้งหมดพร้อมกันที่บริเวณงาน / ประธานในพิธีเดินทางถึงภายในงาน / พิธีเปิดงานแห่นาคโหด ประจำปี 2561
– นั่งร้านเพื่อชมขบวนแห่นาคโหด
14.30 น.          – ตั้งขบวนวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยพานพุ่ม ทอง-เงิน ขบวนธงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เสลี่ยงบายศรี ชุดบูชา 6-8 คน ขบวนพ่อขาว-แม่ขาว ถือเครื่องบายศรี 20-30 คน ขบวนพ่อ-แม่และญาติของนาค ถือผ้าไตร เครื่องใช้บวชหมอน 20-30 คน ขบวนนาคขึ้นแห่บนแคร่ และรถเครื่องเสียง
– ขบวนแห่นาคโหดเริ่มต้น โดยการแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน จากบ้านตนเองรอบหมู่บ้าน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้านมาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่าโยนนาค ถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่า ผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ โดยผู้บวชจะต้องประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ หากใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช โดยจะเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางที่แห่รอบหมู่บ้านกว่า 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง และด้วยรอบโบสถ์วัดอีก 3 รอบ
15.30 น.          – ออกเดินทางไปอำเภอเกษตรสมบูรณ์
16.30 น.          – ชมวิถีชีวิตเกษตรพอเพียง พร้อมล่องแพ ณ ลำน้ำพรม ซึ่งขณะนั่งแพ ก็จะมีชาวบ้านนำผลไม้ต่าง ๆ เช่น ส้มโอหวานและมะขามแช่อิ่ม มาจำหน่ายตลอดระยะทาง
17.30 น.          – รับประทานอาหารเย็นบนแพ
18.30 น.          – ออกเดินทางไปอำเภอเมืองชัยภูมิ
19.30 น.          – เข้าที่พัก ในตัวเมืองชัยภูมิ / พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2561
08.00 น.          – รับประทานอาหารเช้า ณ ที่พัก
09.30 น.          – เข้าสักการะเจ้าพ่อพญาแล ณ ศาลเจ้าพ่อพญาแล อำเภอเมืองฯ ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 4 กิโลเมตร ตามเส้นทางชัยภูมิ-บ้านเขว้า (ทางหลวงหมายเลข 225) เลี้ยวขวาเข้าหนองปลาเฒ่า เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของพระยาภักดีชุมพล (แล) และเป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวเมืองชัยภูมิ
10.30 น.          – เข้าชม พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ KOMGRISH ชมต้นแบบของผ้าขิดและไหมโบราณของลูกหลานเจ้าพ่อพญาแลโดยตรง ลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายหมี่เอี้ยวเยี่ยวควาย ลายฟองน้ำ ลายขอ ลายต้นสน ลายสร้อยดอกหมาก ลายหมากจับ ลายหางกระรอก ลายหมากจับหว่าน ลายหมากจับจุ้ม ลายข้ามหลามตัด ลายขอใหญ่ ลายหมี่คั่นขอนารี เป็นต้น และร้านกาแฟสไตล์ล้านนา “เฮือนคำมุ” ร้านกาแฟสไตล์ล้านนา ความหมายของ เฮือนคำมุ..คำ.. หมายถึง ทองคำ มุ..หมายถึงความตั้งใจความมุ่งมั่นที่บริสุทธิ์ รวมคำ..หมายถึง เรือนทองคำที่บริสุทธิ์จากการตั้งใจทำอย่างมุ่งมั่น
11.30 น.          – สัมผัสกับอรายธรรมขอมโบราณ ปรางค์กู่ เป็นปราสาทหินสมัยขอมที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล
12.30 น.          – รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านอาหารบ้านแชมป์โลก หรือร้านอาหารส่องโลกสวย อำเภอเมืองฯ
13.30 น.          – ชมและเลือกซื้อสินค้าของดีเมืองชัยภูมิ กับ “หม่ำ” สุดยอดหนึ่งในโลก จากร้านต่าง ๆ บริเวณห้าแยกโนนไฮ
14.00 น.          – ออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ
– ชมและเลือกซื้อสินค้าของดีตามเส้นทาง เช่น ตลาดผลไม้อำเภอปากช่อง / ร้านครูต้อ สระบุรี เป็นต้น
18.30 น.          – เดินทางถึงกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ
********************************************************
หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

WhatsApp chat